การต่อวงจรรีเลย์ใช้งาน กับระบบไมโครคอนโทรลเลอร์

ตอนที่ 1
เป็นการค้นหา รวบรวม ข้อมูล จากแหล่งข้อมูลต่างๆ นำมา เรียบเรียง เพื่อรองรับการประยุกต์ใช้งาน ที่ถูกต้องเป็นพื้นฐาน นะครับ

การต่อวงจรรีเลย์ใช้งาน กับระบบไมโครคอนโทรลเลอร์

ส่วนแรก เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับรีเลย์และการควบคุม Relay กันก่อน สำหรับตัวอย่างการศึกษานี้ รีเลย์ที่ใช้จะเป็น รีเลย์ไฟกระแสตรง โดยยกตัวอย่าง รีเลย์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟกระแสตรง 5 โวลต์

สัญลักษณ์

สัญลักษณ์แบบลวดพัน

image

สัญลักษณ์แบบตัวเหนี่ยวนำพันแกนเหล็ก

image

ภาพจริง
image

ความหมายของรีเลย์

รีเลย์คือสวิตช์แม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำงานโดยกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งสามารถเปิดหรือปิดกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่กว่าได้มาก หัวใจของรีเลย์คือแม่เหล็กไฟฟ้า (ขดลวดที่จะกลายเป็นแม่เหล็กชั่วคราวเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน)

รีเลย์เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแม่เหล็ก เพื่อใช้ในการดึงดูดหน้าสัมผัสของคอนแทก ให้เปลี่ยนสภาวะ โดยการป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับขดลวด เพื่อทำการปิดหรือเปิดหน้าสัมผัสคล้ายกับสวิตช์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเราสามารถนำรีเลย์ไปประยุกต์ใช้ ในการควบคุมวงจรต่าง ๆ ในงานด้านอิเล็กทรอนิกส์

รีเลย์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนหลักคือ

image

  1. ขดลวด (coil) โดยเมื่อป้อนแรงดันไฟฟ้าเข้าไปในขดลวด มันจะกระตุ้นขดลวดให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ประกอบด้วยเส้นแรงแม่เหล็กขึ้นมา และมีผลทำให้แกนเหล็กหรือเรียกว่าตัวนำมีสภาพเป็นแม่เหล็ก และมีอำนาจไปบังคับให้ อาเมเจอร์ (แผ่นโลหะที่เคลื่อนที่ได้) เกิดการเคลื่อนที่ มีผลทำให้รีเลย์เกิดการเปลี่ยนสถานะของหน้าคอนแทค

จากภาพอธิบายได้ว่า

ชุดอาร์เมเจอร์จะประกอบด้วยโลหะจำนวน 2 ชิ้นนำมาประกอบกัน

1.1 ชิ้นแรก (สีเขียว) จะสร้างขึ้นมาเป็นฐานรองรับชุดคอล์ยแม่เหล็ก และรองรับแผ่นโลหะชิ้นที่ 2 ที่เคลื่อนที่ได้ของอาร์เมเจอร์ด้วย

1.2 ชิ้นที่ 2 (สีน้ำเงิน) เป็นแผ่นโลหะที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เมื่อเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากชุดขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า

จากภาพ หมายเลข 1 จะพบว่าชุดหน้าคอนแทค Common จะยึดติดอยู่กับชุดของอาร์เมเจอร์ทั้ง 2 ชิ้น ดังนั้นเมื่ออาร์เมเจอร์ชิ้นที่ 2 เกิดการเคลื่อนที่ ก็จะทำให้หน้าคอนแทค Common ที่ยึดติด จะมีการเคลื่อนที่ไปด้วยดังนั้นจึงทำให้สภาวะการทำงานของหน้าคอนแทคของรีเลย์เปลี่ยนเกิดการเปลี่ยนสถานะ

  1. หน้าสัมผัส (Contact) ทำหน้าที่เหมือนสวิตช์ ที่กำหนด ทิศทางการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ต้องการ

imageimage

การทำงานของรีเลย์ที่ควบคุมด้วย Push button switch

image

จากภาพที่ 1 เมื่อกดปุ่มสวิตซ์ลงมา จะทำให้มีกระแสไหลเข้าไปยังชุดคอยล์หรือชุดขดลวด และจะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้นมาและเกิดเส้นแรงแม่เหล็กขึ้น ดังภาพที่ 2 ซึ่งมีผลทำให้แกนเหล็กที่ถูกขดลวดพันอยู่ด้านใน เกิดสภาวะความเป็นแม่เหล็กขึ้นมา โดยจะมีขั้วบวกและขั้วลบดังภาพที่ 2 ซึ่งการเกิดอำนาจแม่เหล็กในลักษณะนี้จะสามารถจะสามารถควบคุมอาร์เมเจอร์ในส่วนที่เคลื่อนที่ ชิ้นที่ 2 เพื่อให้หน้าสัมผัสของ Relay เปลี่ยนสถานะได้

image

ช่วงขณะที่เราทำการปล่อยสวิตซ์ให้ห่างออกจากกัน เพื่อตัดไฟออกจากวงจร ช่วงนั้นจะเกิดการ Spark (Arc Across Air gap) ระหว่างหน้าคอนแทคของสวิตซ์ สาเหตุเกิดจาก สนามแม่เหล็กเกิดการยุบตัวตัดกับขดลวดแล้วมันก็จะทำให้เกิด Black EMF หรือแรงเคลื่อน หรือ แรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำต้านกลับ ทำให้แรงดันไฟฟ้ามีค่าสูงมาก พร้อมกันนั้นจะทำให้ขั้วของแกนเหล็กเปลี่ยนเป็นทิศทางตรงกันข้ามตามภาพ ปรากฏการณ์นี้จะทำให้แรงดันที่ตกคร่อมสวิทช์ มีค่าสูงมาก ดังนั้นจึงเกิดการสปาร์คขึ้น บริเวณหน้าคอนแทคของสวิตซ์ ทำให้ตัวของสวิตช์เองเกิดการเสื่อมสภาพที่เร็วขึ้น ในกรณีที่เราใช้อุปกรณ์อื่นที่ทำหน้าที่แทน Push button Switch เช่น ทรานซิสเตอร์ ก็จะส่งผลให้ ทรานซิสเตอร์ อาจจะได้รับความเสียหายหรือมีอายุการใช้งานที่สั้นลงอย่างมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เราสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยการใช้ไดโอดมาต่อคร่อมชุดของขดลวดหรือคอยล์ของรีเลย์เอาไว้ ดังภาพ

image

เมื่อกดปุ่มสวิทช์จะทำให้มีแรงดันและกระแสไหลผ่านเข้ามาที่ชุดขดลวดหรือคอยล์และไหลลงกราวด์เป็นลักษณะการทำงานที่ปกติ และกระแสอีกส่วนหนึ่งก็จะไหลเข้ามาทางไดโอดด้วยแต่เนื่องจาก ว่ามีการจัดวงจรเป็นแบบ Reverse bias จึงทำให้กระแสไม่สามารถไหลผ่านไปยังไดโอดได้

image

ช่วงขณะที่เราทำการปล่อยสวิตซ์ให้ห่างออกจากกัน เพื่อตัดไฟออกจากวงจร ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นสภาวะเดียวกันกับวงจรที่ไม่ได้ใส่ไดโอด แต่หลังจากใส่ไดโอดแล้วแรงดันจะวิ่งวนลูปผ่านชุดขดลวดหรือคอยล์แทน (Forward bias) หลังจากนั้นสนามแม่เหล็กจะค่อยๆลดลงจนหมดไป (รูปที่ 1 2 3 และ 4) และเข้าสู่สภาวะปกติในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเร็วมาก

1 Likes

ตอนที่ 2

วิธีเลือกไดโอด flyback สำหรับรีเลย์ในการขจัดพลังงานขดลวดรีเลย์แม่เหล็กไฟฟ้า

ก่อนอื่นให้พิจารณากระแสคอยล์เมื่อขดลวดทำงาน
กรณีนี้จะใช้ Relay 5 Vdc

รีเลย์ SONGLE รุ่น SRD-05VDC-SL-C

image

จากข้อมูล ของ รีเลย์ SONGLE รุ่น SRD-05VDC-SL-C

จะได้ ข้อมูลดังนี้
L = 0.36 W 5Vdc Current = 71.4mA Resistance 70 ohm ± 10%

กระแสคอยล์เมื่อทำงาน Current = 71.4mA ดังนั้นจะต้องเลือกไดโอดที่ใช้กระแสอย่างน้อย 79.4 mA ได้

การเลือก Diode (ดูจาก Datasheet)
ดูที่ Average Rectified Output Curren Io = 1.0 A ซึ่งกระแสในปริมาณนี้จะเห็นว่าเราสามารถใช้ไดโอดตั้งแต่เบอร์ 1N40001 – 1N4007 ได้

image

  1. DC Blocking Voltage : VR คือความสามารถในการ Block แรงดันไฟฟ้าในกรณีที่เราต่อแบบไบอัสกลับ
    หรือ อัตราแรงดันย้อนกลับของไดโอด
  2. Averageforward Current (Io) กระแสเฉลี่ยเมื่อไดโอดได้รับไบแอสตรง คือ ค่ากระแสที่ไดโอดยอมให้ำหลผ่าน ได้

แต่การจะเลือกความสามารถในการ block แรงดันไฟฟ้าในกรณีที่เราต่อแบบบัสกลับจะเลือกกี่โวลต์ ?

ที่อัตราแรงดันย้อนกลับของไดโอด DC Blocking Voltage อย่างน้อยควรมีแรงดันไฟฟ้าที่ใช้กับคอยล์รีเลย์ โดยปกตินักออกแบบจะสำรองไว้มากมาย ในการจัดอัตราแรงดันย้อนกลับของไดโอด ซึ่ง Relay ที่ใช้คือ 5 Vdc ดังนั้น เราสามารถเลือกไดโอด เบอร์ 1N4001 ก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่นักออกแบบ อาจจะเผื่อแรงดันย้อนกลับของไดโอด ไว้ที่ 1,000 โวลต์ ก็ได้โดยเลือกเบอร์ 1N4007

ตัวอย่างที่นำมาใช้งาน

จากภาพเราจะเห็นว่ามีการใช้ไดโอด 1N4148 ด้วย

1

และเมื่อพิจารณาทางด้านของ specification ของ 1N4148 แล้วเราจะเห็นว่าค่า
Average Rectified Output Curren Io = 200mA และค่า VRRM มีค่า = 100V

ซึ่งถ้านำไปเทียบกับรุ่น 1N4007 ที่
Average Rectified Output Curren Io = 1.0 A และค่า VR มีค่า = 1000V

แล้วจะพบว่า มีความแตกต่างกันทั้งค่ากระแสและค่าแรงดันย้อนกลับ แต่ก็สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 เบอร์ในวงจรควบคุม Relay ซึ่งความแตกต่างหากจะอยู่ที่ขนาดของตัวไดโอด ราคาและ ผลของความไวในการตัดต่อหน้าคอนแทคของ relay ที่เร็ว หรือ ช้ากว่ากัน (แต่เห็นผลน้อยมาก)

ตอนที่ 3
ย้อนรอยการนำทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547 , S8050 มาใช้แทน Push button switch เพื่อควบคุม Relay โดยผ่านไมโครคอนโทรลเลอร์

image

วงจรขับรีเลย์ แบบ LOW ACTIVE

image

ทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547,S8050 เป็นทรานซิสเตอร์ชนิด NPN เป็นที่นิยมใช้งานกันมาก เนื่องจาก ทรานซิสเตอร์ชนิด NPN หาง่าย และราคาถูกกว่าทรานซิสเตอร์ PNP

ทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547

image image

เมื่อดูจาก datasheet แล้วจะพบว่าค่าที่บอกว่า 45V 0.1 A เอามาจากค่า Vceo และค่า Ic

VCB คือ แรงดันระหว่างรอยต่อคอลเลกเตอร์กับเบส

VEB คือ แรงดันระหว่างรอยต่ออิมิตเตอร์กับเบส

VCE คือ แรงดันระหว่างรอยต่อคอลเลกเตอร์กับอิมิตเตอร์

ถ้าเรามองย้อนกลับไปว่าทำไมต้องใช้ค่า IC 100 mA ก็ให้กลับไปดูค่ากระแสของ Coil Relay ที่เรานำมาใช้งาน

image

image

จากข้อมูล ของ รีเลย์ SONGLE รุ่น SRD-05VDC-SL-C
จะได้ ข้อมูลดังนี้
L = 0.36 W 5Vdc Current = 71.4mA Resistance 70 ohm ± 10%
กระแสคอยล์เมื่อทำงาน Current = 71.4mA

คิดได้จากสูตร กระแสโหลด Ic = แรงดันแหล่งจ่าย Vs/ความต้านทานโหลดRL
** แทนค่า Ic = 5Vdc / 70 ohm = 0.0714 A หรือ 71.4mA **

ดังนั้นจะต้องเลือกทรานซิสเตอร์ที่ใช้กระแสอย่างน้อย 71.4 mA ด้วย โดย ทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547 มีค่ากระแส IC = 100mA ซึ่งเพียงพอ (มากกว่า) ในการรับค่ากระแสขนาด 71.4mA ได้ ส่วนค่า VCE หรือ แรงดันระหว่างรอยต่อคอลเลกเตอร์กับอิมิตเตอร์ = 45 V ก็เพียงพอในการรับค่าแรงดัน ที่ไหลผ่านในตัวมันได้เช่นกัน (เทียบกับแรงดันของแหล่งจ่าย 5Vdc) ส่วนสาเหตุที่ใช้แรงดันเป็น 45V ในความคิดของผู้เขียนคือในการเลือกเบอร์ของทรานซิสเตอร์จะใช้ค่า IC เป็นหลักเมื่อเลือกค่า IC ได้แล้วก็มาพิจารณาดูค่าแรงดัน VCE ถ้ามากกว่า 5 โวลท์ก็สามารถนำมาใช้งานได้
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกเบอร์ทรานซิสเตอร์ได้หลายเบอร์เนื่องจากกลุ่มของทรานซิสเตอร์เหล่านี้มีค่า IC = 100mA ทั้งหมด ส่วนค่าแรงดันนั้นมากกว่า 5 Vdc อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสามารถใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์เหล่านี้ (BC547, BC550, BC546, BC548, BC549)ได้ ในส่วนของการออกแบบเราอาจจะใช้ค่าทรานซิสเตอร์เบอร์ BC546 ซึ่งมีค่า VCE 65V ก็ได้

ทรานซิสเตอร์เบอร์ S8050

image

จาก datasheet เราจะเห็นว่า ทรานซิสเตอร์เบอร์ S8050
VCE = 20V และ มีค่ากระแส IC = 700mA
เมื่อเปรียบเทียบกับทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547
VCE = 45V และ มีค่ากระแส IC = 100mA

เราก็จะเห็นค่าความแตกต่างระหว่างค่า VCE และค่า IC ซึ่งทรานซิสเตอร์ทั้ง 2 เบอร์นี้ถูกนำเอามาใช้ในวงจรการควบคุม Relay ด้วย output ที่ออกมาจากไมโครคอนโทรลเลอร์

image

ตอนที่ 4 ย้อนรอยการหาค่า resistor เพื่อจำกัดค่ากระแสเบส (IB) ของทรานซิสเตอร์
(จำเป็นต้องต่อตัวต้านทานอนุกรมกับเบส ของทรานซิสเตอร์ เพื่อจำกัดกระแสเบส IB และป้องกันทรานซิสเตอร์เสียหาย)

ตัวอย่างจะใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547

image

กระแสเบส IB น้อยๆควบคุมกระแสคอลเล็คเตอร์ IC ที่มีค่าสูง

image

จาก Datasheet เราเลือก ทรานซิสเตอร์เบอร์ BC547
ซึ่งมีค่า VCE = 45V และ มีค่ากระแส IC = 100mA และ เกนกระแสต่ำสุด hFE(min) = 110

ไมโครคอนโทรลเลอร์สามารถขับแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าทางเอาต์พุตไม่สูง คือประมาณ +3 หรือ +5V 20mA
คำนวณค่าโดยประมาณสำหรับตัวต้านทานที่เบส:

image

IB = IC /β โดย β คือค่า hfe

β จาก Data sheet คิดแบบไม่รู้ค่า hfe Class จะใช้ 110 Min(110-800)

IB = 100mA /110 = 0.909 mA

จะเห็นว่าเมื่อเบสและอิมิตเตอร์ได้รับไบอัสตรงจะเกิดแรงดันตกคร่อมรอยต่อ VBE ≅ 0.7 V (เหมือนตกคร่อม Diode)

ดังนั้นแรงดันที่ตกคร่อม VRB = VBB - VBE = 5Vdc - 0.7Vdc = 4.3 Vdc

RB = VRB / IB = 4.3Vdc / 0.909 mA = 4.73 kΩ

และเลือกค่ามาตรฐานที่ใกล้เคียงที่สุด

จากนั้นให้มาดูค่า R ที่มีขาย โดยจะมีค่าต่างๆ ดังนี้
10Ω 22Ω 47Ω 100Ω
150Ω 200Ω 220Ω 270Ω
330Ω 470Ω 510Ω 680Ω
1KΩ 2KΩ 2.2KΩ 3.3KΩ 4.7KΩ 5.1KΩ
6.8KΩ 10KΩ 20KΩ 47KΩ 51KΩ 68KΩ
100KΩ 220KΩ 300KΩ 470KΩ 680KΩ
1MΩ

ดังนั้นเราจะเลือกค่า RB = 4.7 kΩ ในการจำกัดค่ากระแสให้ขา B

จากการค้นคว้าหาข้อมูลและได้ทำการเรียบเรียงตามแนวคิดของผู้เขียน อาจจะมีความผิดพลาดไปบ้าง ก็ลองพิจารณาดูครับ ก็หวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนสมาชิก

สำหรับผู้สนใจครับ

ส่วนนี้จะเป็นการคำนวณโดยการการแทนค่าใน Excel ครับ
การคำนวณ วงจรควบคุม Relay ของ Microcontroller.xlsx (9.9 MB)